Teaching Thai

Teaching Thai
Rapin Chuchuen

Thursday, August 18, 2011

ตอบข้อสงสัยนักเรียน ครั้งที่ 1

      ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับนักเรียน เรื่องการอ่าน และเขียนคำยาก นักเรียนต้องหมั่นอ่านหนังสือบ่อยๆ จะทำให้นักเรียนจดจำคำยากได้  และเข้าใจความหมายของคำที่อ่าน  ตัวอย่างของคำและความหมายนี้  เป็นส่วนหนึ่งของการเฉลยข้อสอบ เพื่อแก้ข้อสงสัย “
เรื่องที่ 1 :  สาสน์” “สาส์นและ สาร
          คำ สาสน์ (อ่านว่า สาด) สาส์น (อ่านว่า สาน) และ สาร (อ่านว่า สาน) ยังมีการนำไปใช้สับสนกัน ดังข้อความที่เห็นกันอยู่เสมอ ๆ เช่น สาสน์จาก (นายกรัฐมนตรี, ผู้ว่าการ ฯลฯ) สาส์นจาก... หรือ สารจาก... ทำให้เกิดความสงสัยว่า ควรจะใช้คำใดจึงจะถูกต้อง
           ถ้าเปิดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ พิมพ์ครั้งที่ ๔ จะไม่พบคำ สาส์นแต่จะพบคำ สาสน์ (หน้า ๘๑๘) และคำ สาร (หน้า ๘๑๕) ซึ่งนิยามไว้ดังนี้
           สาสน์ (สาด) น.คำสั่ง, คำสั่งสอน; โดยปริยายหมายถึงพระราชหัตถเลขาทางราชการ  จดหมายทางราชการของประธานาธิบดี และลิขิตของพระสังฆราช เช่น พระราชสาสน์ อักษรสาสน์ สมณสาสน์.
           สาร ๑, สาร-๑, สาระ (สาน, สาระ-) น.แก่น, เนื้อแท้ที่แข็ง, เช่น แก่นสาร ส่วนสำคัญ, ข้อใหญ่ใจความ, เช่น ไม่เป็นสาระ; ถ้อยคำ เช่น กล่าวสาร, หนังสือ เช่น นิตยสาร, จดหมาย เช่น เขียนสาร.
           การที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ไม่เก็บคำ สาส์น เพราะเป็นคำที่อ่านและเขียนผิดอักขรวิธีไทยของคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต คำบาลีสันสกฤตนั้น พยัญชนะตัวที่ไม่มีรูปสระกำกับอยู่และไม่ใช่ตัวควบกล้ำหรือตัวสะกด จะอ่านเหมือนมีสระอะประสมอยู่เสมอโดยเฉพาะพยัญชนะตัวท้ายคำ เช่น สาสน (อ่านว่า สา-สะ-นะ) เมื่อไทยรับคำบาลีสันสกฤตมาใช้มักนิยมแปลงพยัญชนะตัวท้ายคำเป็นตัวสะกดบ้าง เช่น กาล (กา-ละ) อ่านเป็น กาน, ขย (ขะ-ยะ) แผลงเป็น ขัย แปลงเป็นตัวสะกดและตัวการันต์บ้าง เช่น สนฺต เป็น สันต์, วิโรจน เป็น วิโรจน์ คำ สาส์น ซึ่งเป็นคำมาจากบาลีว่า สาสน จึงต้องเขียนว่า สาสน์ (อ่านว่า สาด) จึงจะถูกต้องตามหลักอักขรวิธีไทยดังกล่าวข้างต้น และคำนี้มีแบบแผนการใช้มาแต่โบราณกับลิขิตของพระสังฆราช เช่น สมณสาสน์, พระราชหัตถเลขาทางราชการ เช่น พระราชสาสน์ เท่านั้น
           ส่วนที่มีการใช้คำว่า สาส์น และอ่านว่า สาน คงเนื่องมาจากชื่อหนังสือ สาส์นสมเด็จ ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมจดหมายโต้ตอบเกี่ยวกับความรู้ทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณี ศิลปะ ฯลฯ ระหว่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  หนังสือเล่มนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายมาก คำ สาส์น นี้จึงติดหูติดตาและนำไปใช้ในความหมายของ จดหมายกันแพร่หลาย ที่ถูกแล้ว คำ สาส์น จะต้องถือว่าเป็นคำวิสามานยนาม เป็นคำยกเว้นที่ใช้เป็นชื่อหนังสือเล่มนี้เท่านั้น
           ฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่ต้องการจะหมายถึง ถ้อยคำ, หนังสือหรือจดหมายจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งให้ใช้คำว่า สาร เช่น สารจาก (นายกรัฐมนตรี, ประธานกรรมการ, ...) สารฉบับนี้มีข้อความว่า... ไม่ใช้ สาสน์ หรือ สาส์น เป็นอันขาดเพราะไม่ถูกต้อง.
ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๔

เรื่องที่ 2 : คำราชาศัพท์ที่แปลว่าตาย
ต่อไป จะเป็นคำราชาศัพท์ที่เกี่ยวกับ ตาย  ที่เราใช้ผิดและสับสน ทั้ง  7  คำ  โดยแต่ละคำนั้นจะนำไปใช้แตกต่างกันตามฐานะของแต่ละบุคคล  ดังนี้

ชีพิตักษัย   ความหมาย    (ราชา) น. การสิ้นชีวิต. ก. ตาย, ใช้แก่หม่อมเจ้าว่า ถึงชีพิตักษัย. (ส. ชีวิตกฺษย; ป. ชีวิตกฺขย).    [ชี-พิ-ตัก-ไส] น. การสิ้นชีวิต. ก. ตาย. เช่น
-          พระมารดาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ... หม่อมเจ้าฐิติพันธ์ ยุคล สิ้นชีพิตักสัย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม
-          หม่อมเจ้าทิพยฉัตร ฉัตรชัย สิ้นชีพิตักสัย แล้ว, อดีต ผกก. หนังไทยวิวสวย และผู้แปล คำบรรยายไทยใน เดอะแมทริกซ์.
พิราลัย    เป็นคำราชาศัพท์ใช้สำหรับเจ้าประเทศราช และสมเด็จเจ้าพระยา อสัญกรรม  สวรรคต  เป็นคำราชาศัพท์ใช้สำหรับพระเจ้าแผ่นดิน  สมเด็จพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนี  สมเด็จพระยุพราช สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช และพระบรมราชวงศ์ที่ทรงได้รับพระราชทานฉัตร ๗ ชั้น
-          ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2462 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคพระวักกะอักเสบเรื้อรัง ณ พระราชวังพญาไท
ทิวงคต   เป็นคำราชาศัพท์ใช้แก่พระยุพราชหรือเจ้าฟ้าซึ่งได้รับการเฉลิมพระยศพิเศษ หรือใช้กับ พระมหา กษัตริย์ต่างประเทศ, กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระราชวงศ์ที่ดำรงพระอิสริยศักดิ์สูง
สิ้นพระชนม์   เป็นคำราชาศัพท์ใช้แก่เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า และสมเด็จพระสังฆราช
-สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ สิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันด้วยพระโรคนิวมอเนีย เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน
อสัญกรรม เป็นคำราชาศัพท์ใช้สำหรับข้าราชการชั้นเจ้าพระยาตาย ใช้ว่า ถึงแก่อสัญกรรม
- นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่  25 ที่เข้ารักษาตัวด้วยอาการป่วยเป็นโรคมะเร็งตับ ที่ รพ.บำรุงราษฏร์ ได้ถึงอสัญกรรมด้วยความสงบ  

อนิจกรรม  เป็นคำราชาศัพท์ข้าราชการชั้นพระยาพานทองตาย ใช้ว่า ถึงแก่อนิจกรรม
-      นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว ผู้มีบทบาทด้านการแพทย์ชนบทถึงแก่อนิจกรรมแล้ว รวมอายุได้ 100 ปี
-          ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ โรคชราคร่าชีวิตขณะอายุ 89 ปี ในหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ
เรื่องที่ 3 : ความหมายและชื่อเรียกของฉัตร 
         สำหรับฉัตรแต่ละชั้นแสดงถึงเครื่องประกอบอิสริยยศของเจ้านาย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ให้ความหมายว่าฉัตรคือร่ม เมื่อพระเจ้าอยู่หัวยกทัพไปตีเมืองใด เมื่อชนะก็นำร่มหรือฉัตรของเมืองที่ยึดได้มา ทั้งนี้ได้กำหนดฉัตรสูงสุดไว้ 9 ชั้น โดยฉัตรสีขาวเป็นฉัตรที่สูงชั้นที่สุด เรียกว่า เศวตฉัตร มี 5 ชั้น 7 ชั้นและ 9 ชั้น โดยฉัตรสีขาว 9 ชั้น เรียกว่านพดลมหาเศวตฉัตร ใช้กับพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินี ส่วน 7 ชั้นใช้กับพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และสมเด็จพระเทพฯเรียก สัตตปดล ฉัตร 5 ชั้นใช้กับสมเด็จเจ้าฟ้าและสมเด็จพระสังฆราช แต่ทั้งนี้ โปรดเกล้าฯให้เลื่อนลำดับได้ อย่างเช่นกรณีพระพี่นางฯ ดำรงพระอิศริยยศเสมอด้วยฉัตร 5 ชั้น แต่ต่อมา พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนชั้นเป็นฉัตร 7 ชั้น

 

No comments:

Post a Comment