Asst.Prof.Rapin Chuchuen ตัวอย่างงาน การสอนภาษาไทย นักเรียนชั้นประถมศึกษา ภาษาไทย และผู้สนใจ
Saturday, October 24, 2009
การเขียนเรียงความ
เรื่อง การเขียนเรียงความ
การเขียนเรียงความเป็นการนำถ้อยคำมาผูกเป็นประโยค แล้วเรียบเรียงเป็นเรื่องราวเพื่อแสดงความรู้ ความเข้าใจ ความคิดเห็น และความรู้สึกของผู้เขียนให้ผู้อื่นเข้าใจเรื่องราวที่เขียน ด้วยสำนวนภาษาที่สละสลวย
หลักการเขียนเรียงความ
1. เขียนชื่อเรื่องไว้กึ่งกลางหน้ากระดาษ
2. เขียนด้วยลายมือที่ชัดเจนอ่านง่าย และถูกต้องตามหลักการเขียน
3. ไม่เขียนชิดริมกระดาษ หรือเขียนตกขอบกระดาษ ควรเว้นหน้ากระดาษทั้งด้านซ้ายและด้านขวาพองาม รวมทั้งไม่เขียนฉีกคำด้วย
4. วางโครงเรื่องเพื่อลำดับเรื่องราวให้เป็นไปตามลำดับก่อนหลัง
5. ความแบ่งเนื้อหาเป็นย่อหน้าคำนำ เนื้อเรื่อง และสรุป โดยในส่วนของเนื้อเรื่องอาจมีย่อหน้าหลายย่อหน้าได้ และควรเขียนย่อหน้าให้ตรงกัน
6. ชื่อเรื่องและเนื้อเรื่องต้องสัมพันธ์กัน
7. เนื้อเรื่องต้องประกอบด้วยข้อมูลที่เป็นจริง ผู้เขียนจึงควรค้นคว้าเรื่องที่จะเขียนให้ดีเสียก่อนที่จะลงมือเขียน
รูปแบบของการเขียนเรียงความ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1. คำนำ อยู่ส่วนแรกของเรียงความ มีความยาวพอประมาณ ใช้แสดงความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียนต่อหัวข้อเรื่อง บางเรื่องก็ขึ้นคำนำโดยใช้การอธิบายคำจำกำความหัวข้อ กลอน สุภาษิต เป็นต้น
2. เนื้อเรื่อง เป็นย่อหน้าถัดจากคำนำ ส่วนของเนื้อเรื่องควรมีประมาณ 2 – 4 ย่อหน้า ต้องบรรยายชัดเจน ยกตัวอย่างให้เห็นจริง อ้างอิงให้ข้อความมีน้ำหนัก
3. สรุป เป็นย่อหน้าสุดท้ายของเรียงความ ควรมีเพียงย่อหน้าเดียว และไม่ต้องเขียนคำว่าสรุป บางครั้งอาจจบลงด้วยคำคม หรือสุภาษิตที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง
การใช้ภาษาในเรียงความ แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ภาษาในเรียงความมี 5 ประการ ดังนี้
1. สังเกตภาษา เช่น การใช้คำสื่อความหมายได้ชัดเจน เหมาะสม
- ถ้าเราใช้เวลาจนคุ้มค่า ก็ไม่ต้องเสียดายโอกาสที่ผ่านไป
- การมองโลกในแง่ดี ย่อมทำให้จิตใจผ่องใส
2. เลือกใช้คำที่เหมาะสม ใช้คำศัพท์ที่ถูกต้องและเรียบง่าย อ่านแล้วเข้าใจทำให้เห็นภาพ
- คำที่เรียบง่าย เช่น ผมชอบอากาศทางเหนือที่หนาวเย็น
- คำเพียงพยางค์เดียวและคำซ้อน เช่น เธอเขียนคำตอบผิด
- คำที่ทำให้เห็นภาพและได้ยินเสียง เช่น “เป็นตัวแรกลงน้ำก่อนไซ้ปีกไซ้ขน ขณะที่ตัวอื่นๆ ตามลงมาดูเบา และลอยฟ่องเหมือนร่างกายไม่มีน้ำหนัก”
3. คิดให้แจ่มแจ้ง ควรใช้ความคิดในเรื่องที่เขียนให้กระจ่าง เพื่อใช้เป็นโครงเรื่อง และคิดหาถ้อยคำมาสื่อความหมาย จนกว่าจะจบเรื่อง
4. แต่งประโยคสั้น เป็นวิธีการที่ดีในการเขียนเรียงความ ในการแต่งประโยคไม่ควรใช้คำซ้ำๆ ในที่ใกล้ๆ กัน ควรเปลี่ยนใช้คำอื่นที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น
แม่ซื้อกระเป๋า กระเป๋ามีสีดำ กระเป๋าใบนี้ทำจากหนังงู
แม่ซื้อกระเป๋าสีดำ ซึ่งทำจากหนังงู
“สุนทรภู่ ได้ชื่อว่าเป็นกวีแห่งรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.2529
สุนทรภู่ได้รับการยกย่องให้เป็นกวีเอกของโลก”
“สุนทรภู่ ได้ชื่อว่าเป็นกวีแห่งรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ.2529
ท่านได้รับการยกย่องให้เป็นกวีเอกของโลก”
5. ความสัมพันธ์เรื่องราว ควรคำนึงถึงการให้เรื่องที่เขียนมีเนื้อหาสาระที่สัมพันธ์กันตามโครงเรื่อง โดยย่อหน้าทั้งหมดต้องมีเรื่องราวสัมพันธ์ต่อเนื่องกันจนกว่าจะจบเรื่อง
ผู้เขียนเรียงความต้องใช้คำในการสื่อความหมายได้ชัดเจน อ่านแล้วเข้าใจทำให้เห็นภาพ ควรใช้คำที่ถูกต้องและเรียบง่าย การเขียนเรียงความมีข้อควรระวัง คือ ไม่ควรใช้คำซ้ำๆ ในที่ใกล้ๆ กัน ควรเปลี่ยนใช้คำอื่นที่มีความหมายใกล้เคียงกัน และเรียบเรียงเนื้อหาสาระให้สัมพันธ์กันตามโครงเรื่อง ข้อความแต่ละย่อหน้าให้มีความต่อเนื่องกันจนจบ และอาจลงท้ายด้วยคำคม หรือสุภาษิตก็ได้
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment