Teaching Thai

Teaching Thai
Rapin Chuchuen

Wednesday, June 6, 2012

สรุปเนื้อหา "ชมรมคนรักวรรณคดี"


บทที่ ๑
ชมรมคนรักวรรณคดี
ชาลีคิดถึงผมแกละในโลกของวรรณคดีดอตคอม  เขาจึงเขียนจดหมายหาผมแกละ และเล่าว่าเขาจินตนาการว่าตนเองกำลังท่องอยู่ในสวนแห่งวรรณคดี ได้ยินเสียงอ่านบทกวีเป็นท่วงทำนองเสนาะ  และมีภาพตัวละครผุดขึ้นในความคิด

เมื่อเขาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่  ๖  ชาลีได้อ่านหนังสือมากขึ้นโดยใช้ห้องสมุดเป็นแหล่งเรียนรู้  และค้นพบความจริงว่าหนังสือวรรณคดีมีความน่าสนใจ  มีเนื้อหาที่สนุกสนาน  ได้เห็นตัวอย่างของการใช้ภาษาและมีคติข้อคิดที่ดี

ชาลีคิดคิดที่จะก่อตั้งชมชมรมคนรักวรรณคดี  โดยมีมะปรางเป็นคนตั้งชื่อชมรมให้และทำหน้าที่เป็นเลขานุการ  ส่วนชาลีเป็นประธานชมรม  ทั้งสองคนได้ไปเชิญคุณครูจันทร์ฉายให้มาเป็นที่ปรึกษาของชมรมคนรักวรรณคดี 

ชาลีและมะปรางได้ทำประกาศเชิญชวนไปติดไว้ที่โรงเรียน  โดยมีสมาชิกกลุ่มแรกที่มาสมัคร  ๙  คน ทั้งหมดอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖  กิจกรรมแรกที่คิดจะดำเนินการ  คือ  “ช่วยกันอ่าน  วานมาฟัง”

ความรู้เพิ่มเติม

วรรณคดี   มีความหมายว่า   หนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดีมีวรรณกรรมศิลป์ กล่าวคือ มีลักษณะเด่นในการใช้ถ้อยคำภาษา  และเด่นในการประพันธ์ ให้คุณค่าทางอารมณ์และความรู้สึกแก่ผู้อ่าน สามารถใช้เป็นแบบฉบับอ้างอิงได้

หนังสือที่ยอมรับว่าเป็นวรรณคดี  ได้แก่ หนังสือรุ่นเก่าซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่าแม้เวลาจะล่วงเลยไปเป็นร้อยๆ ปี ก็ยังมีคุณค่า สามารถชี้ลักษณะเด่นได้ เช่น บทเสภาเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน  ลิลิตพระลอ  บทแห่ชมปลา  เป็นต้น

ข้อสำคัญเป็นหนังสือที่เหมาะแก่คนอ่านทุกวัย ยิ่งคนอ่านมีประสบการณ์มากก็ยิ่งได้รับอรรถรสเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้เขียนแต่งขึ้นอย่างประณีตและกลั่นกรองเรื่องราวมาจากประสบการณ์ของชีวิต

ลักษณะเด่นของวรรณคดีไทย จำแนกเป็นข้อๆ ได้ ดังนี้
.  นิยมด้วยคำประพันธ์ร้อยกรองมากกว่าร้อยแก้ว 

. เน้นความประณีตของคำและสำนวนโวหาร ภาษาที่ใช้ในวรรณคดีไม่เหมือนภาษาพูดทั่วไป คือ เป็นภาษาที่มีการเลือกใช้ถ้อยคำตกแต่งถ้อยคำให้หรูหรา มีการสร้างคำที่มีความหมายอย่างเดียวกันที่เรียกว่า คำไวพจน์ โดยใช้รูปศัพท์ต่างๆ กัน เพื่อมิให้เกิดความเบื่อหน่ายจำเจ เช่น
ใช้คำว่า ปักษา ปักษี สกุณา สกุณี แทนคำว่า นก

          ๓.  เน้นการแสดงความรู้สึกที่สะเทือนอารมณ์จาการรำพันความรู้สึก ตัวละครในเรื่องจะรำพันความรู้สึกต่างๆ เช่น รัก เศร้า โกรธ ฯลฯ 

          ๔. วรรณคดีไทยมีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องกับชนชั้นสูงมากกว่าคนสามัญ ตัวละครเอกมักเป็นกษัตริย์และชนชั้นสูง คุณสมบัติสำคัญของตัวเอกจะเน้นที่บุญญาธิการซึ่งเป็นผลมาจาก "บารมี" ที่ได้ทำไว้ทั้งในชาตินี้และชาติก่อน (อดีตชาติ) การที่เป็นดังนี้เนื่องจากในอดีตสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมแห่งอำนาจวัฒนธรรมและความอยู่รอดของชาติบ้านเมืองจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับกษัตริย์เป็นสำคัญ

          ๕. แนวคิดสำคัญที่พบในวรรณคดีไทยโดยทั่วไปเป็นแนวคิดแบบพุทธปรัชญาง่ายๆ เช่น แนวคิดเรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แนวคิดเรื่องความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง (อนิจจัง) แนวคิดเรื่อง ความกตัญญู แนวคิดเรื่องความจงรักภักดี แนวคิดเรื่องความรักและการพลัดพราก เป็นต้น

ตัวละครเด่น  คือ  ตัวละครที่มีการกล่าวถึงเป็นตัวหลักสำคัญ   หรือทำหน้าที่เป็นตัวดำเนินเรื่องตัวหลักๆ 

ตัวละครประกอบ  คือ  ตัวละครที่เข้ามามีส่วนประกอบที่ช่วยเสริมบทบาทของตัวละครหลัก  ที่ทำให้เรื่องดำเนินไปได้  และสร้างความสมบูรณ์ที่สมจริงมากขึ้น

2 comments: